วัดป่าสุคะโต ครองที่ป่า 500 ไร่ ไม่มีโฉนด!
  AREA แถลง ฉบับที่ 295/2560: วันอังคารที่ 01 สิงหาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในช่วงที่ผ่านมามีข่าววัดธรรมกายซื้อที่ในเขตนิคมสร้างตนเองบ้าง หรือรุกป่าบ้าง อันที่จริงวัดในต่างจังหวัดมากมายที่มีปัญหานี้ ไม่เว้นแม้แต่วัดป่าสุคะโตที่พระไพศาล (ซึ่งมีทัศนะอีกขั้วกับวัดธรรมกาย) ก็ครองที่ป่าถึง 500 ไร่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ กรณีที่วัด ไม่ควรเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ควรเป็นประเด็นที่รัฐควรจัดการทรัพยากรให้ดีกว่านี้

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้ทดลองศึกษากรณีวัดป่าสุคะโต เพื่อเป็นอุทธาหรณ์ในการจัดการที่ดินของวัด อย่างไรก็ตามกรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่การครอบครองที่ดินป่า อาจถือได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย แต่จะจัดการอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณที่เป็นจริงและไม่เป็นการเลือกที่รักมักที่ชัง

การครอบครองที่ป่า

            ใน "ตำนานวัดป่า (สุคะโต)" (http://bit.ly/2u8pC5b) ระบุว่า "การขึ้นไปป่าหลังเขาในต้นปี 2512 นั้น เดิมทีหลวงพ่อบุญธรรมตั้งใจจะไปเพียงเที่ยวป่าเล่นๆเท่านั้น แต่ความอุดมสมบูรณ์และความงดงามของธรรมชาติของป่าหลังเขา ในปีนั้นสิได้เปลี่ยนความตั้งใจของหลวงพ่อ. . .จำพรรษาอยู่กลางป่า. . .ความอุดมสมบูรณ์ของป่าหลังเขานี้คล้ายกับเป็นพรมป่าไม้หนาทึบ. . .นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของลำน้ำปะทาว. . .ขณะนั้นบ้านท่ามะไฟหวานมีชาวบ้านอยู่เพียง 30 กว่าหลังคาเรือน บ้านกุดโง้งมีเพียง 15 หลังคา เรือน. . .ทางรถยังไม่มี"

            ในบทความยังอ้างว่า ". . .ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงช่วยกันบริจาคผืนดินที่จับจองแล้วสลับแลกเปลี่ยนกันเอง จนได้เป็นแปลงใหญ่ที่มีผืนป่าติดต่อกันผืนใหญ่ รวมเนื้อที่แล้วประมาณ 500 ไร่. . .เมื่อหลวงพ่อบุญธรรมได้ป่าขนาดใหญ่มาตั้งเป็นอารามสงฆ์แล้วนั้นท่านก็ได้ สร้างกุฏิเล็กๆอยู่อย่างสมถะ ใช้ชีวิตกลมกลืนกับป่า ปกป้อง ต้นไม้และสัตว์. . ." แต่ในอีกช่วงหนึ่งก็เขียนว่า "ปี 2514. . .พนักงานตีตราไม้ของบริษัทสัมปทาน. . .รุกเข้ามาเกือบถึงกุฏิหลวงพ่อ. . .พร้อมกับแสดงหลักฐานเอกสารอันถูกต้องตามกฎหมาย ถึงสัมปทานบัตรอันทับบนที่อารามสงฆ์. . .วัดป่าก็ถูกย่ำยีอย่างถูกกฎหมายจากพ่อค้าไม้ เพียง 3 วันเท่านั้น ต้นไม้ที่ถูกตีตราก็ถูกโค่นจนหมดป่า" ข้อนี้แสดงชัดว่าวัดรุกเข้าไปในเขตป่า และตั้งอยู่อย่างผิดกฎหมาย

ชาวบ้านก็ทำลายป่าและบุกรุกป่า

            ในบทความยังเขียนว่า " (ทางออกของ) ชาวไร่ก็คือต้องขยายพื้นที่ในการเพราะปลูก เพื่อให้สมดุลกับรายจ่ายที่ต้องซื้อหาปัจจัยยังชีพ จนในที่สุดป่าบนหลังเขาก็เหลือน้อยเต็มที . . .ปีแล้วปีเล่า ดูเหมือนสภาพทะเลทรายของป่าหลังเขาจะปรากฏภาพให้เห็นชัดยิ่งขึ้นทุกปี. . .ความคิดอ่านในเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมขาติ ไม่ได้ซึมลึกเข้าไปในสามัญสำนึกของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของหมู่บ้านสวนป่าแห่งนี้เท่าไรนัก"

            ในอีกบทความหนึ่งที่เขียนโดยพระไพศาล (http://bit.ly/2u8AfoH) กล่าวไว้ว่า "ในระยะหลัง ๆ ไฟป่าได้สร้างปัญหาร้ายแรงแก่ทางวัดทุกปี เนื่องจากพื้นที่รอบวัดซึ่งเดิมเคยเป็นป่าหนาแน่น ได้ถูกถางเตียนเป็นไร่มัน ไร่ข้าวโพดหมด การเผาพืชไร่ เพื่อเตรียมปลูกใหม่แต่ละครั้งในช่วงหน้าร้อน ทำให้ไฟลามเข้ามาในเขตวัด จากทุกทิศทุกทางอยู่เนืองๆ" กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านเป็นผู้ทำลายป่า และอนาคตก็ไม่แน่นอนเนื่องจากความผกผันของราคา

            บทความของพระไพศาลยังกล่าวว่า "ความระส่ำระสายของชาวบ้านรอบวัดอันเป็นผลจากโครงการปลูกป่าทดแทนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในเขตป่าสงวน ทำให้ชาวบ้านถูกไล่ที่ไปกลาย ๆ ประชาชนขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตที่นั่น คิดแต่จะขยับขยายไปหาที่ทำกินใหม่ ด้วยมองไม่เห็นอนาคตว่า จะอยู่ต่อไปได้อีกกี่น้ำ ที่เคยช่วยงานส่วนรวมแข็งขัน ระยะหลังก็กลับกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ชนิดตัวใครตัวมันยิ่งขึ้นทุกที อาการกลัดกลุ้มจนต้องพึ่งยานอนหลับ เวลานี้ก็ระบาดเข้ามาถึงหมู่บ้านแถบนี้แล้ว" นี่แสดงว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน บ้างก็เป็นใบภาษีบำรุงท้องที่ (ใบ ภ.บ.ท.5) บ้าง หรือบ้างก็เป็นใบ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

วัดก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ

            สำหรับวัดป่าสุคะโตเอง ครอบครองพื้นที่ป่า (ดูแผนที่ DSI) อยู่ประมาณ 500 ไร่ ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ (พิกัดทางภูมิศาสตร์: Lat: 16.14821 Lon: 102.08634) และมีระบุว่าอยู่ในพื้นที่สวนป่าเกษตรสมบูรณ์ ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่คงอยู่ในการควบคุมของกรมป่าไม้ซึ่ง อ.อ.ป. โอนให้แล้ว และอยู่ในความดูแลของหน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ ชย.9 (ท่ามะไฟหวาน) จ.ชัยภูมิ

            อาคารสิ่งปลูกสร้างในบริเวณวัดป่าสุคะโต มีกุฏิ-ศาลา อาคารปฏิบัติธรรม หอไตร ห้องน้ำ ห้องครัว (รวมประมาณจำนวน 120 หลัง) จากที่เริ่มต้นเพียงไม่กี่หลังเมื่อ 50 ปีก่อน และมีจำนวนพระ-แม่ชี ประมาณ 30-40 รูป และมีลูกจ้างประมาณ 4-5 คน อาคารเหล่านี้สร้างในเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ มีบ่อน้ำประมาณ 30 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 400 ไร่ ยังมีสภาพเป็นป่าที่ได้รับการฟื้นฟู และไม่ได้มีการใช้สอย

            สิ่งที่แสดงการใช้พื้นที่ป่าในแง่หนึ่งก็คือ วัดป่าสุคะโต เข้าร่วม "โครงการพระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้" ของศูนย์ป่าไม้ จังหวัดชัยภูมิ เช่น งานอบรม/ฟื้นฟูป่า โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี 2538 แต่วัดป่าสุคะโต เพิ่งเข้าร่วมโครงการได้ 4-5 ปีแล้ว สำหรับโอกาสที่วัดจะสามารถอยู่ต่อไปได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าวัดไม่ทำผิดเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ไม่ทำให้พื้นที่เปลี่ยนสภาพ หรือให้คงสภาพป่าไว้ให้ได้มากที่สุด และแม้แต่ที่ ส.ป.ก. ก็อาจถูกยึดคืนได้หากมีนายทุนเข้าครอบครอง (http://bit.ly/2tyj2nk)

ทำอย่างไรกับวัดป่าดี

            ถ้าดูตามนี้ วัดป่าสุคะโต อาจถูกเพิกถอนได้ ถือว่าผิดร้ายแรงกว่ากรณีวัดธรรมกายหรือวัดอื่นที่ไปซื้อที่ น.ค.3 ซึ่งสามารถซื้อขายได้ หรือบางวัดหรือสำนักสงฆ์ ก็อาจซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ซึ่งไม่สามารถซื้อได้ ตามข่าวเช่น "'เนวิน'แฉ 'มูลนิธิจำลอง' รุกที่ส.ป.ก.กว่า500ไร่" (http://bit.ly/2uHKQ6W) ซึ่งมีข่าวว่า " ที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งไม่ทราบว่ากรณีนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คือมีมูลนิธิพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าไปบุกรุกทำประโยชน์ในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2537 เนื้อที่ 536 ไร่" (ต่อมาทางมูลนิธิอ้างว่าได้รับการบริจาคจากผู้ครอบครองเดิม แต่ในความเป็นจริง ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 หากไม่ได้ใช้ ก็ต้องคืนหลวง ไม่อาจยกให้กันเองได้)

            อย่างไรก็ตามในกรณีที่กรมป่าไม้ให้การสนับสนุนหรือให้ความเห็นชอบในระดับหนึ่ง ก็อาจสามารถทำให้วัดอยู่ในเขตป่าได้ตาม "โครงการพระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้" นั่นเอง โดยอาจให้วัดช่วยจัดอบรมชาวบ้านโดยรอบให้รักษาป่า และอาจช่วยปลูกป่า หรืออื่นใด หรืออาจจะเช่าที่ป่าก็ยังสามารถทำได้ แม้บางครั้งก็อาจจะ "กำกวม" บ้าง เช่นใน "กรณีศึกษา "พุทธะอิสระ" กับการถือครองที่ดินป่า (อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ )" (http://bit.ly/2h89ZzR) ซึ่งท่านอ้างว่ามีสัญญากับกรมป่าไม้แต่ก็มีการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ต่อจากชาวบ้านในละแวกนั้น

            การให้วัดเช่าที่ให้ถูกต้องก็ตาม การให้วัดร่วมมือกับทางราชการก็ตาม การออกเอกสารสิทธิ์ให้วัดและให้วัดซื้อจากทางราชการ (โดยอาศัยปัจจัยจากการบริจาค) ย่อมจะทำให้การบริหารจัดการที่วัดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ่าน 6,017 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved