ควรควบคุมราคาบ้านและห้องชุด
  AREA แถลง ฉบับที่ 395/2560: วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในวงการค้าขายสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค มีการควบคุมราคา แต่บ้านและห้องชุด ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญ กลับไม่มีการควบคุมราคาใด ๆ เพื่อความมั่นคงของตลาดบ้านและห้องชุด ควรมีการควบคุมราคาได้แล้ว

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ข้อคิดว่าในปัจจุบัน ไม่มีการควบคุมราคาบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ห้องชุด ซึ่งในอนาคตอาจทำให้ผู้ซื้อบ้านไม่สามารถซื้อบ้านได้ในตลาดเปิด และทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะธุรกิจของผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในระยะยาว  ดร.โสภณ จึงเสนอให้มีการควบคุมราคา เช่นเดียวกับสินค้าปัจจัยสี่อื่น ๆ ที่มักได้รับการควบคุมราคาโดยทางราชการ

            จะสังเกตได้ว่าบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ๆ นั้นมีกำไรสุทธิ 15-20% (http://bit.ly/2fYQLi3) ซึ่งถือว่าสูงมาก ทั้งนี้เป็นกำไรสุทธิที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ออกไปแล้ว รวมทั้งหักโบนัสพนักงานซึ่งได้รับโบนัสกันปีละ 5-8 เดือน และค่าตอบแทนในการทำงานของผู้บริหารที่มีสวัสดิการดีเยี่ยม การได้กำไรมหาศาลเช่นนี้ หากแบ่งให้สังคมด้วยราคาบ้านที่เป็นธรรมกว่านี้ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

            ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับบ้านมือสอง ทั้งบ้านมือสองที่เก่าแล้ว อายุเกิน 10 ปี หรือบ้านมือสองที่ยังใหม่อยู่อายุไม่เกิน 5 ปี หรือบางหน่วยก็ยังไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยเลย จะพบว่าราคาบ้านและห้องชุดใหม่ มีราคาที่สูงกว่าราคาบ้านมือสองเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามสาเหตุส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะต้นทุนราคาที่ดินของผู้ประกอบการสูงขึ้น ดังนั้นหากมีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคอย "รนก้น" เจ้าของที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะทำให้อุปทานที่ดินมีมากขึ้น ราคาที่ดินไม่สูงเกินจริง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการด้วย

            ในการตั้งราคาขายนั้น ในส่วนของราคาที่ดิน ทางราชการอาจใช้ราคามาตรฐานที่เป็นไปได้ของราคาตลาดที่ได้จากการสำรวจประเมินค่าทรัพย์สิน หรือจากหลักฐานการซื้อขายจริง ส่วนราคาค่าก่อสร้างอาคาร ก็ใช้ราคาอ้างอิงที่มีอยู่ทั่วไป หรืออาจทำการถอดแบบก่อสร้างอาคารที่จะสร้างนั้น ๆ พร้อมกำหนดสัดส่วนกำไรที่ควรจะได้รับ เพื่อให้ราคาที่ออกสู่ท้องตลาดได้รับการตรวจสอบและควบคุมในระดับหนึ่ง เช่นบวก/ลบไม่เกิน 10-15% ของราคากลาง ในเบื้องต้นราคากลางอาจเป็นเพียงราคาอ้างอิงเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้วิจารณญาณเพิ่มเติมในการเปรียบเทียบกับโครงการอื่นเพื่อให้ผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันมากขึ้น และไม่ให้เพียงรายใหญ่เท่านั้นที่จะครอบงำตลาด

            สิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้ประชาชนผู้ซื้อบ้านเข้าซื้อบ้านมากขึ้น เพราะราคาไม่ได้สูงเกินความเป็นจริง  ผู้ประกอบการก็มีผลกระกอบการที่ดีขึ้น มีลูกค้ามาซื้อด้วยความม่นใจมากขึ้น ทางราชการก็ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นการควบคุมราคาบ้านและห้องชุดจึงนับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

            คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จึงควรมีบทบาทในด้านนี้ รวมทั้งต่อไปอาจมีบทบาทในการควบคุมค่าบริการประเมินค่าทรัพย์สิน บริการทางวิชาชีพสถาปนิกและวิศวกรรม เป็นต้น


ที่มารูปภาพ: http://bit.ly/2zb3gPL

อ่าน 3,100 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved