"บิทคอยน์" กับจตุคาม-ตุ๊กตาลูกเทพ
  AREA แถลง ฉบับที่ 33/2561: วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตอนนี้ใครไม่พูดถึง "บิทคอยน์" ดูเป็นคนล้าสมัย แต่ที่ผมเขียนถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่เขียนเพื่อให้ดูทันสมัย แต่เขียนให้เห็นถึงหายนะของการเก็งกำไรบิทคอยน์ซึ่งก็คือ "จตุคาม" หรือ "ตุ๊กตาลูกเทพ" ในโลกสากลนั่นเอง

            ดังที่เป็นที่รู้กันว่า "บิทคอยน์" เป็นเงินดิจิทัล (หรือ Cryptocurrency สกุลหนึ่ง) ซึ่งถูกบันทึกไว้ด้วยข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ และไม่มีตัวแทนมูลค่าในรูปแบบเหรียญหรือธนบัตร ขณะที่เงิน 1 บาทสามารถแบ่งออกเป็น 100 สตางค์ บิทคอยน์ 1 เหรียญสามารถแบ่งย่อยได้ถึง 100 ล้านหน่วย ปัจจุบันบิทคอยน์สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ แต่จำนวนร้านค้าที่รับ "บิทคอยน์" นั้นยังนับว่าน้อยกว่าสกุลเงินปกติมาก นอกจากนี้การโอนและแลกเปลี่ยน "บิทคอยน์" ข้ามชาติเป็นไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว (http://bbc.in/2Bb1Euf) แล้วอย่างนี้มันโปร่งใสที่ตรงไหน?

            นอกจากนี้ยังคุยกันว่า "นอกจากจับต้องไม่ได้แล้ว บิทคอยน์ยังไม่ได้เป็นของสถาบันการเงินใด ๆ แต่ถูกดูแลโดยเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ที่ช่วยกันจดบันทึกการทำรายการของทั้งระบบพร้อม ๆ กันทุกครั้งที่มีการทำรายการ จึงทำให้การแก้ไขปลอมแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก เทคโนโลยีที่ว่านี้เรียกว่า บล็อคเชน (blockchain) (http://bbc.in/2Bb1Euf) ที่เขาว่าข้างต้นนี้ไม่รู้จะเหมือนถูกหลอกเรื่อง "Y2K" (http://bit.ly/2BtSqG9) เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหรือไม่ ที่พูดว่าบิทคอยน์ได้รับการดูแลโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกนั้น ตอนนี้ระบบหลักๆ ก็มีอยู่ไม่กี่ค่าย กึ่งจะผูกขาดรอมร่ออยู่หรือเปล่า

            ในทางตรงกันข้าม เร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่า "คลังเตือนลงทุนบิทคอยน์เสี่ยงสูง เข้าข่ายการพนัน ไม่มีกฎหมายรองรับ ย้ำหากเกิดความเสียหาย จะไม่ได้รับการดูแล แต่ยอมรับ เงินดิจิทัล มีความน่าสนใจในตัวเองหากไม่ผันผวนและควบคุมได้ ด้าน สศช. ระบุยังไม่พบสัญญาณที่ส่อกระทบระบบการเงิน กระแสการลงทุนในเงินที่ต้องอาศัยการเข้ารหัส (cryptocurrency) หรือ เงินดิจิทัล เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ บิทคอยน์ ซึ่งราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 800 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์ในช่วงต้นปี 2560 มาอยู่ที่ประมาณ 17,000 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์" (15 ธันวาคม 2560: http://bit.ly/2kg7aRK)

            เราคงไม่ต้องเอ่ยถึงตำนาน "จตุคาม" และ "ตุ๊กตาลูกเทพ" โดยละเอียด เพราะเพิ่งผ่านพ้นมาไม่นาน แต่เราคงจำข่าวได้ว่า "ประณามคนทิ้ง 'จตุคาม' ร่วมแสนองค์ริมถนนเมืองคอนหมดมนต์ขลัง (http://bit.ly/2B9B4l3) หรือข่าว "เอาไปทิ้ง 'ตุ๊กตาลูกเทพ' เกลื่อนวัด หมอแมคแฉ กระแสแอนตี้ เลี้ยงโอเวอร์! (http://bit.ly/2yVyERc) ลำพังเฉพาะ "จตุคาม" ก็เคยมีมูลค่าตลาดถึง 20,000 ล้านบาท เคยมีคนเช่าในราคา 39 บาท แต่เพิ่มขึ้นเป็นแสนบาท (http://bit.ly/2AUahVL)

            นักลงทุนต้องแม่นในหลักการที่ไม่ใช่ "ลมเพลมพัด" ในเรื่องราคาและตลาด  การซื้อขายจะมีราคาตลาด (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value) ของทรัพย์สินที่เราประเมินซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างตามลักษณะเฉพาะของทรัพย์สิน โดยถือตามพฤติกรรมตลาด (Market Behavior หรือ Market Practices) ในท้องตลาด เป็นผู้กำหนดราคาตลาด อย่างไรก็ตามในตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) กลไกตลาดอาจถูกบิดเบือนไปได้ในบางขณะสั้น ๆ แต่ไมใช่ตลอดไป (http://bit.ly/1PsKAQa)

            อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีตลาด ก็จะมีราคา เพราะตลาดเป็นแหล่งสังเคราะห์อุปสงค์และอุปทานให้ออกมาเป็นราคาตลาด มีตัวอย่างเช่นหินดวงจันทร์มีราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีราคาเช่นนี้ก็เพราะมีพฤติกรรมตลาดที่แน่ชัดที่ผ่านการซื้อขายมาหลายต่อหลายครั้งในตลาด จนสามารถทราบได้นั่นเอง แต่กรณี "บิทคอยน์" "จตุคาม" หรือ "ลูกเทพ" คงไม่มีราคาที่แน่ชัดเพราะเป็นของบุคคลแต่ละคน มีต้นทุนในการซื้อหามา แต่ไม่มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน เราจึงเห็นปรากฏการณ์การทิ้ง "จตุคาม" และ "ลูกเทพ" กันเกลื่อนในภายหลัง

            "อย่าเห็นขี้ฝรั่งหอม" ในโลกสากลนั้น ฝรั่งมักฟอร์มเก่ง ยุ่นมักทำเก่ง จีนมักโม้เก่ง ปรากฏการณ์ที่ราคา "บิทคอยน์" พุ่งสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นสิ่งที่ควรจับตามอง มันมาพร้อมกับการใส่คำศัพท์ (Jargon) เข้าไปหลายคำหน่อยเพื่อให้ผู้คนพยักหน้าหงึกๆ แต่ไม่รู้ว่ารู้เรื่องจริงหรือไม่ ใส่เครื่องมือคอมพิวเตอร์ (ขุดเงิน) ให้ดูซับซ้อนเท่ๆ เข้าไปอีกสักนิด ก็สามารถสร้างภาวะเก็งกำไรได้ นอกจากจะไม่มีกลไกการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือและได้รับการรับรองระดับนานาชาติแล้ว ยังได้ธนาคาร ตลาดหลักทรัพยฺ์และส่วนราชการบางแห่ง "ปากว่าตาขยิบ" ช่วยกันกระพืออีกสักหน่อย ก็สามารถทำให้ "บิทคอยน์" ผงาดอย่างเท่ๆ ได้ นี่คือการเกิดขึ้นอย่างอิสระหรือมีอะไรชักใยอยู่เบื้องหลัง

            ในคำประกาศของกลุ่มประเทศ G20 เรื่องตลาดการเงิน (Declaration of the Summit on Financial Markets and the World Economy: Common principles for reform http://bit.ly/2CWBbO) เมื่อปี 2551 หลังความล้มเหลว "แฮมเบอร์เกอร์ไครสิส" (http://bit.ly/2d90IYq) หรือวิกฤติซัพไพร์มนั้น ได้ระบุชัดว่าต่อจากนี้ต้องมีการสร้างความเข้มแข็งในด้านความโปร่งใสในวงการเงิน มีมาตรการทางการเงินที่มีเหตุมีผล ความน่าเชื่อถือในตลาดการเงิน แสวงหาความร่วมมือนานาชาติ รวมทั้งการสังคายนาสถาบันการเงินนานาชาติ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิด "บิทคอยน์" นี้ แสดงถึงการขัดหลักการที่ประกาศนี้โดยชัดแจ้ง

            การที่รัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้ว "เอาหูไปนาตาไปไร่" และรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาก็ตามไม่ทัน การเก็งกำไร และความหายนะทางการเงินก็จะตามมา ดู Lehman Brothers, Enron ธนาคารแบริ่ง และบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ต่างก็พังพินาศกันมาแล้ว เพราะความไม่โปร่งใส (นี่ถ้ายังรอดชีวิตอยู่มาถึงทุกวันนี้เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่อื่นๆ ก็คงคว้ารางวัลความโปร่งใสเป็นว่าเล่น) ในโลกนี้ยังมีความขมุกขมัวมากมาย แม้แต่บริษัทจัดอันดับต่างๆ ที่เที่ยวไปจัดอันดับให้ประเทศนั้นประเทศนี้หรือจัดอันดับให้กับบริษัทใหญ่ๆ ต่างๆ บริษัทเหล่านี้เองมีใครสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ แอบทำชั่วอะไรซ่อนไว้บ้างหรือไม่ ก็ไม่มีใครจะตอบได้

            ในประเทศไทยของเราเอง ก็เคยได้รับการสรุปจากผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกถึงความไม่โปร่งใสของระบบธนาคารไทยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ว่าเป็นเพราะ ". . .fundamental weakness in the banking system operating under outdated regulatory rules and supervision - undercapitalization, insider lender, lack of disclosure, unsound practices... led to overinvestment in real estate. (Renaud. Bertrand: http://bit.ly/2yVl14q) นอกจากนี้ Dr.Yap ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ไม่โปร่งใสของสถาบันการเงินกับบริษัทอื่นๆ ยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤติด้วย (http://bit.ly/2AWQ4ic)

            คำคมภาษาอังกฤษมีคำหนึ่งว่า "too good to be true" ซึ่งแปลว่า "so good that it is hard to believe, or seeming very good but not real" (http://bit.ly/2CAT0RY) หรือแปลง่ายๆ ว่า "ดีเกินจริง" ใช่ว่าคนมีความรู้ มีฐานะสูง จะไม่งมงาย คนบางคนมักดูถูกประชาชนรากหญ้าว่างมงายในการขูดเลขแทงหวย (ซึ่งอาจเป็นความหวังที่เหลืออยู่อย่างเดียวของการจะรวยได้ของเขา) แต่ลืมดูไปว่า พวกดูทันสมัยเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ก็งมงายมากกว่าด้วยซ้ำไป ถูกกระแสสากลหลอกได้ง่ายๆ  เข้าทำนอง "ถ้าไม่ยอมให้ถูกหลอกอาจดูโง่" หรือพวกนายพล คุณหญิงคุณนาย ก็งมงายในการดูหมอ หรือห้อยเครื่องรางของขลังที่มีราคาเก็งกำไรอย่างไรเหตุผลสิ้นดียิ่งกว่าคนจน

            โปรดสังวรว่า "too good to be true"

 

 

 

อ่าน 4,394 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved