อ่าน 2,135 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 150/2556: 24 ตุลาคม 2556
เขื่อนแม่วงก์ ควรฟังเสียงของใคร

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
www.facebook.com/dr.sopon4

          เห็น NGOs อ้างว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงออกล่ารายชื่อคนต้านเขื่อนแม่วงก์ในกรุงเทพมหานครและผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แท้จริงแล้วใครมีสิทธิในพื้นที่ตรงนั้นกันแน่
          ปกติ NGOs จะเน้นถึงสิทธิชุมชน จนมีความพยายามออกโฉนดชุมชนให้กับชาวเขา {1} หรือชาวบ้านคลองโยงที่แต่เดิมจะซื้อที่ดินจากทางราชการเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท แต่กลับได้โฉนดชุมชนไปฟรี {2}  แม้แต่ชาวชุมชนแออัดบุกรุกมาชั่วชีวิต ก็ยังได้โฉนดชุมชนที่ถูกกฏหมายไป {3} หรือเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า NGOs เคลื่อนไหวหมายจะ "ปล้น" ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) ที่มักกะสันไปเป็นสวนสาธารณะของชาวกรุง จนผู้ว่าราชการ กทม. ก็ออกมาสนับสนุน {4}
          แปลกที่ว่าในกรณีเขื่อนแม่วงก์กลับไม่คิดว่าชาวบ้านในท้องถิ่นควรเป็นผู้ชี้ขาด  กลับเห็นว่าชาวบ้าน "โง่" ไม่รู้จริง/ ฟังแต่นักการเมือง {5}  และกลับคิดว่าคนไทยทุกคนควรเป็นเจ้าของทรัพยากร เราควรคิดกันอย่างไรกันแน่:
          1. กรณีผู้บุกรุกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวเขา ชาวชุมชนแออัด เมื่อกระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะมาอ้างกฎหมู่ไม่ได้ บุกรุกอยู่กินเอาเปรียบคนอื่นมาชั่วชีวิต ยังจะมาอ้างสิทธิอีกหรือ แต่ที่ผ่านมาก็อ้างกันไปเรื่อย ป่าจึงวิบัติ จะเห็นได้ว่าหลังจากท่านสืบ นาคะเสถียรฆ่าตัวตายเพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของป่า ปรากฏว่าป่าก็ยังลดลงในอัตราเดิม {6}  แต่เดิมเราย้ายชาวเขาลงจากป่า แต่เดี๋ยวนี้ กลับยอมให้เขาอยู่รักษาป่า (เพื่อพวกเขาเอง)
          2. ในกรณีการถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น ย่อมไม่ถูกต้อง เช่น กทม. จะหวังเอาที่ดินของ รฟท. ไปทำสวนสาธารณะเพื่อชาวกรุงโดยเฉพาะผู้ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงแถวนั้น ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะ รฟท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นของประชาชนทั้งประเทศ  ถ้า กทม. จะเอาที่ดินนี้ ก็ต้องซื้อจาก รฟท. จะ "ปล้น" เอาเฉยๆ ย่อมไม่ได้ หรือถ้าให้คน กทม. ร่วมกันบริจาคเพื่อการซื้อ ก็คงไม่มีใครยอมจ่าย (แต่ชอบออกเสียงเรียกร้อง)
          3. บางคนบอกว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ต้องถามคนที่อื่นก่อน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากร ถ้าเราคิดเช่นนี้ การที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรมหาศาลไปสร้างสาธารณูปโภคมากมายกระจุกให้กับชาวกรุง ก็ต้องถามชาวบ้านจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เลย ยะลา ฯลฯ ด้วยหรือไม่  ในความเป็นจริง หากเป็นกรณีความเดือดร้อนของชาวบ้าน รัฐบาลก็สามารถที่จะนำเงินส่วนรวมมาช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้
          4. ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ก็เช่นกัน ชาวบ้านได้สรุปบทเรียนมานับสิบๆ ปีแล้วว่าเขื่อนแม่วงก์จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งได้ ก็ควรที่จะสร้าง เพราะได้ประโยชน์ต่อชาวบ้านถึง 127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ หาไม่บริษัทต่างชาติจะย้ายหนี ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย หรือนำเงินไปช่วยเยียวยาในกรณีประสบเภทภัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
          5. หากเรานำประเด็นการสร้างเขื่อนไปถามคนในจังหวัดอื่นที่ไม่เคยได้รับความเดือดร้อน (จนต้องรีบขาวข้าวในนายามน้ำท่วมเหลือเพียง 3,000-4,000 บาทต่อเกวียน จากราคาประกัน 13,000 บาท) เขาก็ไม่เอาเขื่อนอยู่แล้ว จากการสัมภาษณ์พบว่าชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนก็ไม่เอาเขื่อน เนื่องจากตนเองไม่ถูกน้ำท่วม ไม่ได้ทำนา มีแต่ชาวบ้านที่ไม่เดือดร้อนแต่เห็นใจชาวบ้านที่เดือดร้อน จึงเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ดังนั้นชาวบ้านที่อยู่ไกล ย่อมสงสารป่ามากกว่าคนอยู่แล้ว
          ดังนั้นการไปล่ารายชื่อจำนวนแสนชื่อมาค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงไม่มีผลอะไร เป็นเพียงกฏหมู่ เช่นถ้าถามชาวบ้านต่างจังหวัดว่าควรขุดคลองใหม่เพื่อระบายน้ำท่วมกรุงหรือไม่ พวกที่ไม่เดือดร้อนและไม่เห็นใจคนอื่น ก็ต้องตอบว่าไม่เช่นกัน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความเห็นใน 6 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา {7} พบว่า สองในสามเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน หากให้ชาวบ้านที่เห็นด้วยเหล่านี้มาลงประชามติ คาดว่าจะมีจำนวนถึง 238,486 คน มากกว่าที่ NGOs ล่ารายชื่อคนค้านมาเสียอีก
          ส่วนประเด็นอื่น เช่น คุ้มหรือไม่ที่จะสร้าง ทรัพยากรในป่า หรืออื่นๆ ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากบทวิเคราะห์อื่นในเว็บไซต์ www.maewongdam.blogspot.com ซึ่งเป็นประเด็นอื่นที่ได้ให้ข้อมูลไว้แล้วเช่นกัน
          เพื่อสังคมอุดมปัญญา อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะจาก NGOs ที่มักใช้ความน่ารัก น่าสงสาร ของคน สัตว์ สิ่งของมารณรงค์

{1}  อสังหาริมทรัพย์กับชาวเขา: www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market104.htm และ www.hilltribe.org/autopage/show_page.php?h=37&s_id=29&d_id=29
{2} โฉนดชุมชน: เอาสมบัติชาติให้กฎหมู่: www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement229.htm
{3} ชุมชนบ้านมั่นคงอ่างทองรับสิทธิ์ใช้ที่ดินสาธารณะ ร้องขอโฉนดชุมชนเพื่อความยั่งยืน สำนักข่าวอิสรา ศุกร์ ที่ 28 กันยายน 2555
{4} ‘สุขุมพันธุ์’รับผลักดันสวนมักกะสัน: www.thaipost.net/x-cite/270513/74108
{5} เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. จากแม่วงก์ ถึงพลังหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ www.naewna.com/politic/columnist/8993
{6} อย่าปล่อยให้ "สืบ นาคะเสถียร" ตายฟรี www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market203.htm
{7} ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่หนุนเขื่อนแม่วงก์ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement574.htm


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved