การเปลี่ยนแปลงราคาอาหาร 6 ปีหลังรัฐประหาร
  AREA แถลง ฉบับที่ 283/2563: วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            หลังรัฐประหาร 6 ปี (พฤษภาคม 2557-2563) ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 49.9% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 7.0% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเงินเฟ้อของทางราชการ  แสดงว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของทางราชการไม่ได้ผลเท่าที่ควร

            ล่าสุดราคาอาหารรอบ 1 ปี (พฤษภาคม 2562 - 63) เพิ่มขึ้น 2.4%  แต่เมื่อดูภาพรวม 5 ปีหลังรัฐประหาร (พฤษภาคม 2557-2563)  ราคาอาหารขึ้น 49.9% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 7.0%  ส่วนตลอดระยะเวลา 8 ปีที่สำรวจ (พฤษภาคม 2555 - พฤษภาคม 2563) มีราคาเพิ่มขึ้น 65.9% หรือขึ้นปีละ 6.53% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ แสดงถึงความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจที่พึงจับตามอง

            ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้จัดทำราคาอาหาร โดยถือเป็นดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ  ทั้งนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการศูนย์ฯ ได้ริเริ่มจัดทำการสำรวจราคาอาหารในทุกรอบครึ่งปี โดยที่ผ่านมาได้ทำการสำรวจดำเนินการใน 14 ครั้งดังนี้

            ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555
            ครั้งที่ 2 วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 
            ครั้งที่ 3 วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2556  
            ครั้งที่ 4 วันจันทร์ 11 พฤศจิกายน 2556
            ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2557 และ
            ครั้งที่ 6 วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2557
            ครั้งที่ 7 วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2558
            ครั้งที่ 8 วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558
            ครั้งที 9 วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2559
            ครั้งที่ 10 วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559
            ครั้งที่ 11 วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2560
            ครั้งที่ 12 วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560
            ครั้งที่ 13 วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2561
            ครั้งที่ 14 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2561
            ครั้งที่ 15 วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2562
            ครั้งที่ 16 วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563

            การสำรวจนี้ดำเนินการเฉพาะในพื้นที่สีลม-สุรวงศ์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจหรือ Central Business District (CBD) ของประเทศไทย และมีคนทำงานในสำนักงานเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้โดยมีสมมติฐานว่าราคาอาหารในย่านนี้น่าจะเป็นราคามาตรฐานเพราะเป็นในใจกลางเมือง ในบริเวณอื่นน่าจะถูกกว่านี้ ยกเว้นในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ไปท่องเที่ยวเป็นครั้งคราว  การสำรวจพื้นที่สีลม จึงถือเป็นตัวแทนสำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครและประเทศไทยโดยรวม
            การสำรวจนี้ ดร.โสภณ เดินสำรวจซ้ำตามร้านเดิมที่เคยสำรวจไว้จำนวน 20 กว่าบริเวณ บางบริเวณเป็นร้านอาหารร้านเดียว บางบริเวณเป็นศูนย์อาหาร พร้อมบันทึกถ่ายภาพนิ่ง และวีดีทัศน์ประกอบ และในบางบริเวณมีร้านค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามห้วงเวลาอีกด้วย โดยแต่ละครั้งที่สำรวจใช้เวลาในการเดินไม่เกิน 2 ชั่วโมงในช่วงเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน
            ผลการสำรวจทั้ง 16 ครั้งที่ผ่านมา แสดงไว้ในตารางต่อไปนี้:

            โดยสรุปพบว่าราคาอาหาร เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้นจาก 31.0 บาทในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็น 31.8 บาทในเดือนพฤษภาคม 2556 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มเป็น 34.3 กลายเป็น 36.1 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2557 กลายเป็น 38.4 บาทในเดือนพฤษภาคม 2558  เป็น 40.0 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2558  เป็น 41.7 ในเดือนพฤษภาคม 2559 เป็น 43.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2559  ในเดือนพฤษภาคม 2560 เป็น 45.7 บาท  ในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพิ่มเป็น 47.1 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2561 เพิ่มเป็น 48.1 บาท  ในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพิ่มเป็น 49.0 บาท  ในเดือนพฤษภาคม 2562 เพิ่มเป็น 50.2 บาท และเดือนพฤษภาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 51.4 บาท

            หากคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจะพบว่า ในรอบ 1 ปีล่าสุด (พฤษภาคม 2562 - 63) ราคาอาหารเพิ่มขึ้นไม่มากนักคือเพิ่ม 2.4% แต่ก็เป็นการปรับตัวสูงขึ้นกว่าภาวะเงินเฟ้อที่ 0.41% (https://bit.ly/2TdI2N1)

            เมื่อประเมินจากภาพรวมสะสม 8 ปี (พฤษภาคม 2555 - พฤษภาคม 2563) ราคาเพิ่มจาก 31.0 บาท เป็น 51.4 บาท หรือเพิ่มขึ้น 65.9%  และหากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปี ก็เท่ากับเพิ่มขึ้นประมาณ 6.53% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ  ราคาอาหารล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2563 คือเป็นเวลา 6 ปีหลังรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้น 49.9% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 7.0% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมากพอสมควร  หากเทียบกับก่อนรัฐประหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555-2557 ปรากฏว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10.7% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5.2% ต่ำกว่าช่วงหลังรัฐประหาร

            มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อาจมีบางบริเวณ เช่น เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองอุตสาหกรรมที่มีการปรับเพิ่มของราคาขายมากกว่านี้ หรือสำหรับรายการอาหารแบบฟาสต์ฟูด ก็อาจปรับราคาเพิ่มขึ้นตามอำเภอใจโดยไม่ได้มีการควบคุม แต่สำหรับประชาชนกันเอง ย่อมมีความเห็นใจและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันตามสมควร จึงทำให้แทบไม่มีการปรับราคาขาย
            ในกรณีนี้บางท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอาจจะลดน้อยลง แต่จากการสังเกตก็พบว่า ปริมาณก็ยังพอ ๆ กับแต่เดิม ไม่ได้ปรับปริมาณลงแต่อย่างไร อย่างไรก็ตามก็ยังอาจมีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า แม้ปริมาณจะคงเดิม แต่คุณภาพก็อาจลดลง แต่ข้อนี้ ผู้สำรวจคงไม่สามารถไปตรวจสอบในรายละเอียดในระดับนั้น และคงอยู่ที่วิจารณญาณของทุกท่านที่พิจารณาผลการสำรวจนี้ ผู้ค้าบางรายกล่าวว่า  ไม่สามารถขึ้นราคาอาหารได้เพราะคนซื้อไม่มีกำลังซื้อเท่าที่ควร ทั้งที่วัตถุดิบในการทำอาหารเพิ่มขึ้นก็ตาม
            ทำไมราคาสินค้าดูปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ราคาอาหารไม่ได้เพิ่มขึ้นมากในสัดส่วนเดียวกัน  ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการทำอาหารออกมาขายเป็นจำนวนมากนั้น มีต้นทุนค่าวัตถุดิบถูกกว่าการซื้อของใช้เองตามบ้าน  มีโอกาสที่ผู้ค้าอาจลดปริมาณและคุณภาพลงบ้างเช่นกัน  หรือเลือกขายในสินค้าที่ใช้วัตถุดิบไม่แพงนัก เช่น ใช้ผักตามฤดูกาล หรือใช้เนื้อหมู ไก่ ซึ่งราคายังไม่เพิ่มมากเท่าปลา เป็นต้น 

            จากการสัมภาษณ์ผู้ค้าพบว่า ราคาวัสดุที่เพิ่มขึ้นบ้างนั้น ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อราคาอาคารที่ขายเป็นปริมาณมาก ๆ ในแต่ละวัน  สิ่งที่ส่งผลที่เด่นชัดกว่าก็คือ ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกเพื่อการขายอาหาร  หากค่าเช่าแพงขึ้นมาก ก็จะทำให้ราคาอาหารเพิ่มมากขึ้น  บางแห่งเช่าพื้นที่ขนาดประมาณ 18 ตารางเมตร เป็นเงินถึง 60,000 บาทต่อเดือน (ตรม.ละ 3,333 บาท) ดังนั้นรัฐบาลหรือกรุงเทพมหานคร อาจช่วยจัดหาพื้นที่ค้าขายในราคาถูก เพื่อให้ผู้ค้าสามารถยืนหยัดขายในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชาชน

            จะเห็นได้ว่าราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่อาจไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก ผู้ค้าก็มีความพยายามที่จะดูแลผู้ซื้อ ดังนั้น การกล่าวโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงว่าราคาอาหารแพงขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นความหวังดีที่ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้กับสังคม แต่อันตรายประการหนึ่งก็คืออาจทำให้ผู้ค้าบางรายฉวยโอกาสขึ้นราคา ซ้ำเติมประชาชนได้ ดังนั้นการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ จึงควรมีความรับผิดชอบ และผู้เสพข้อมูลควรใช้วิจารณญาณ

            การที่รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาลประยุทธ์หลังเลือกตั้ง ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ราคาอาหารกลับเพิ่มขึ้น 49.9% ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ความพยายามอาจจะยังไม่สัมฤทธิผลมากนัก แต่เนื่องจากล่าสุดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมาก ประชาชนทั่วไปต่าง "ชักหน้าไม่ถึงหลัง" ทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาในช่วง 1 ปีล่าสุด เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง (เพียง 2.4%) เกิดภาวะเงินฝืด  ทำให้พ่อค้าไม่อาจขึ้นราคาเพราะไม่มีผู้อุดหนุน  ทุกวันนี้แม้ค้าจึงขาดทุนกำไรลงไปเรื่อยๆ

โปรดดูรายงานผลการสำรวจครั้งก่อน ๆ ดังนี้

  1. การสำรวจ 5 พฤษภาคม 2555
  2. การสำรวจ 16 พฤศจิกายน 2555
  3. การสำรวจ 14 พฤษภาคม 2556
  4. การสำรวจ 11 พฤศจิกายน 2556
  5. การสำรวจ 15 พฤษภาคม 2557
  6. การสำรวจ 13 พฤศจิกายน 2557
  7. การสำรวจ 14 พฤษภาคม 2558
  8. การสำรวจ 16 พฤศจิกายน 2558
  9. การสำรวจ 10 พฤษภาคม 2559
  10. การสำรวจ 16 พฤศจิกายน 2559
  11. การสำรวจ 15 พฤษภาคม 2560
  12. การสำรวจ 21 พฤศจิกายน 2560
  13. การสำรวจ 31 พฤษภาคม 2561
  14. การสำรวจ 15 พฤศจิกายน 2561
  15. การสำรวจ 16 พฤษภาคม 2562
  16. การสำรวจ 19 พฤษภาคม 2563
  17. การสำรวจ 10 มิถุนายน 2564
อ่าน 2,665 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved